Categories
News

อาการของโรคเก๊าท์ อาการข้ออักเสบเก๊าท์

อาการของโรคเก๊าท์ อาการข้ออักเสบเก๊าท์ โรคเกาต์ เป็นโรคข้ออักเสบที่พบบ่อยที่สุดในผู้ป่วยชายที่มีอายุมากกว่า 40 ปีขึ้นไป พบในเพศชายมากกว่าเพศหญิงเป็นสัดส่วน 9:1 โดยในเพศชายมักพบช่วงอายุระหว่าง 30-50 ปี เพศหญิงพบได้มากขึ้นในช่วงอายุมากกว่า 50 ปี หรือวัยหลังหมดประจำเดือน

ภาวะกรดยูริกในเลือดสูง หมายถึง ภาวะที่มีกรดยูริกสูงผิดปกติมากกว่าค่าเฉลี่ยมาตรฐาน โดยค่าสูงสุดที่ยังถือว่าอยู่ในเกณฑ์ปกติในเพศชายคือ 7.0 มก./ดล. และเพศหญิงวัยก่อนหมดประจำเดือนคือ 6.0 มก./ดล. หรือมีระดับกรดยูริกในเลือดสูงกว่า 6.8 มก./ดล. เมื่ออิงตามคุณสมบัติทางเคมี

อาการของโรคเกาต์

1.ระยะข้ออักเสบเฉียบพลัน

ลักษณะเด่นของโรคในระยะนี้ คือ การเกิดข้ออักเสบเฉียบพลันที่บริเวณข้อในส่วนล่างของร่างกาย โดยครั้งแรกมักเกิดที่บริเวณหัวแม่เท้าข้างใดข้างหนึ่งหรือที่ตำแหน่งข้อเท้า

2.ระยะที่ไม่มีอาการข้ออักเสบและระยะเป็นซ้ำ

ในระยะนี้ผู้ป่วยจะมีอาการปกติทุกอย่าง มักมีประวัติข้ออักเสบระยะเฉียบพลันมาก่อน ระยะเวลาตั้งแต่การมีข้ออักเสบครั้งแรกถึงระยะต่อไปอาจกินเวลาแตกต่างกันในแต่ละราย

หากไม่ได้รับการรักษาอาจมีโอกาสเกิดข้ออักเสบซ้ำภายใน 1 – 2 ปี เมื่อเป็นซ้ำบ่อยๆ จำนวนข้ออักเสบจะเพิ่มมากขึ้นและรุนแรงมากขึ้น ระยะเวลาในแต่ละครั้งที่มีข้ออักเสบยาวนานขึ้น อาจมีอาการทางกายอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น อาการไข้

3.ระยะข้ออักเสบเรื้อรังจากโรคเกาต์

ลักษณะจำเพาะ คือ พบข้ออักเสบหลายข้อแบบเรื้อรังร่วมกับการตรวจพบก้อนที่เกิดจากการสะสมของผลึกยูเรตตามเนื้อเยื่อต่างๆ หรือเรียกว่า โทฟัส (tophus) บางครั้งอาจแตกออกมาเห็นเป็นสารสีขาวคล้ายชอล์ก ตำแหน่งที่พบโทฟัสได้บ่อยนอกจากบริเวณนิ้วหัวแม่เท้าและข้อเท้า คือ ปุ่มปลายศอก เอ็นร้อยหวาย ปลายนิ้ว และอาจพบที่ใบหูร่วมด้วย ในระยะนี้จะพบข้ออักเสบหลายข้อ และอาจมีไข้จากการอักเสบได้

จะดูแลรักษาอย่างไร
การรักษาในระยะที่มีการอักเสบของข้อ ควรพักการใช้งานของข้อนั้น หลีกเลี่ยงการบีบนวดข้อ การประคบข้อ และเริ่มรักษาโดยเร็วโดยใช้ยาลดการอักเสบของข้อ ปัจจุบันที่นิยมใช้มียาโคลชิซิน (colchicine) และยาต้านการอักเสบ (NSAIDs) ยาโคลชิซิน ขนาดยาที่ใช้ 1 เม็ด (0.6 มิลลิกรัม ) รับประทานทุก 4-6 ชั่วโมงในวันแรก และลดเหลือวันละ 2 เม็ดในวันต่อมา ( ทั้งนี้ขึ้นกับการทำงานของไต สำหรับผู้สูงอายุอาจต้องลดขนาดยาลงโดยเฉพาะในวันแรก ) ให้นาน 3-7 วันหรือจนกว่าการอักเสบของข้อจะหายดี ผลข้างเคียงคือท้องเดินหรือคลื่นไส้อาเจียน ถ้ามีอาการดังกล่าวให้หยุดยา สำหรับยาต้านการอักเสบ (NSAIDs) สามารถให้ได้เช่นกัน ควรเลือกยาชนิดที่ค่าครึ่งชีวิตสั้น ออกฤทธิ์เร็ว จะให้ นาน 3-7 วัน หรือจนกว่าข้อที่อักเสบจะหายดี ข้อห้ามในการใช้ยาต้านการอักเสบคือผู้ที่มีแผลในกระเพาะอาหาร การทำงานของไตบกพร่อง หรือมีโรคตับเป็นต้น ถ้าจำเป็นต้องใช้จะต้องประเมินปัจจัยเสี่ยงดังกล่าว โดยเฉพาะในผู้สูงอายุ นอกจากนี้ไม่ควรให้มีการเปลี่ยนแปลงระดับยูริกในระยะนี้เช่นผู้ป่วยที่ทานยาลดกรดยูริกในเลือดอยู่ไม่ควรให้หยุดยาหรือปรับเปลี่ยนขนาดยา หรือยังไม่ได้รับยาลดกรดยูริกมาก่อนแพทย์ไม่ควรเริ่มยาลดกรดยูริกในระยะนี้

การรักษาระยะยาวเพื่อป้องกันการอักเสบซ้ำ
การป้องกันการเกิดข้ออักเสบซ้ำ ภายหลังจากข้ออักเสบหายแล้วถ้าผู้ป่วยมีข้ออักเสบเป็นซ้ำ อีกหลายครั้งใน 1 ปีจะแนะนำให้ทานยาโคลชิซินป้องกันโดยให้ขนาด 0.6-1.2 มิลลิกรัม / วัน จนกว่าตรวจไม่พบตุ่มโทฟัส ระดับกรดยูริกในเลือดลงต่ำกว่า 4-5 มิลลิกรัม / เดซิลิตร และไม่มีข้ออักเสบเลยอย่างน้อย 3-6 เดือน

การรักษาภาวะกรดยูริกในเลือดสูง โดยมีเป้าหมายเพื่อไปละลายกรดยูริกหรือผลึกยูเรตที่อยู่ในข้อ, รอบๆข้อ, ตามตุ่มโทฟัส หรือตามเนื้อเยื่อต่างๆ เช่น ที่ไต โดยใช้ยาลดกรดยูริกในเลือดซึ่งขณะนี้มี 2 กลุ่มใหญ่ได้แก่ยาเพิ่มการขับกรดยูริกทางไต และยาลดการสร้างกรดยูริก ซึ่งแพทย์จะพิจารณาใช้ยาชนิดใดนั้นขึ้นกับผู้ป่วยแต่ละราย ผู้ป่วยจะต้องรับประทานยาเป็นระยะเวลาหลายปี มีการตรวจเลือดเช็คระดับกรดยูริกในเลือดเป็นระยะ โดยเป้าหมายจะต้องให้ระดับกรดยูริกในเลือดต่ำกว่า 5.0-6.0 มิลลิกรัม / เดซิลิตร

คำแนะนำอื่นๆ โรคเก๊าท์มักสัมพันธ์กับการมีโรคร่วมอื่น ได้แก่ ภาวะไขมันสูง ความดันโลหิตสูง เบาหวาน และโรคอ้วน ดังนั้นจำเป็นที่จะต้องรับการตรวจวินิจฉัยและดูแลรักษาโรคร่วมด้วยเสมอ ต้องลดน้ำหนักและควบคุมน้ำหนักตัว ดื่มน้ำพอสมควร งดการดื่มแอลกอฮอล์ สำหรับอาหารนั้นผู้ป่วยโรคเก๊าท์ไม่จำป็นต้องจำกัดอาหารประเภทสัตว์ปีก เครื่องในสัตว์ หรือยอดผัก เพราะอาหารประเภทดังกล่าวมีผลทำให้เกิดข้ออักเสบได้น้อย ยกเว้นต้องจำกัดอาหารเพื่อควบคุมความดันโลหิต หรือไขมันเป็นต้น นอกจากนี้ผู้ป่วยโรคเก๊าท์ควรจะต้องได้รับการประเมินการทำงานของไตและนิ่วของทางเดินปัสสาวะเสมอ